
การรักษามะเร็ง เช่น คีโม ฉายรังสีหรือฉายแสง เป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง แต่ละครั้งของการรักษามีผลทำให้ภูมิคุ้มกันและค่าเลือดลดต่ำลง ร่างกายผู้ป่วยมะเร็งจะอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อถึงคราวรักษาครั้งถัดไป หากผลตรวจเลือดของผู้ป่วยไม่ผ่าน ค่าเม็ดเลือดขาวไม่ถึงเกณฑ์ แพทย์อาจจะพิจารณาหยุดการรักษาชั่วคราวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องเตรียมร่างกายผู้ป่วยมะเร็งให้แข็งแรงก่อนเข้ารับการรักษา ต้องหาวิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูค่าเลือดแบบเร่งด่วน ซึ่งสามารถทำได้โดยการดูแลทางโภชนาการ
อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว เสริมภูมิคุ้มกัน

- เสริมโปรตีน ผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับโปรตีนในปริมาณ 1–1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพราะโปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ควรเลือกโปรตีนที่มีคุณภาพดี เช่น เวย์โปรตีน ซึ่งมีกรดอะมิโนครบถ้วน รวมถึง กลูตามีน (L-glutamine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุดในร่างกายและเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรค แหล่งอาหารที่มีกลูตามีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และธัญพืชต่างๆ
- เสริมโอเมก้า 3 โอเมก้า 3 ช่วยบรรเทาการอักเสบของร่างกาย และส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างปกติ พบในน้ำมันปลา สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดควรเสริมน้ำมันปลา 1-2 กรัมต่อวัน เพื่อเพิ่มพลังงานและความอยากอาหารแก่ร่างกาย
- เสริมสารภูมิคุ้มกัน อาร์จีนีน (L-arginine) เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นในยามเจ็บป่วย มีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกันเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T cell นอกจากนี้ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และช่วยในการสมานแผลของร่างกาย พบในถั่ว เนื้อสัตว์ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ฯลฯ
- เสริมสารภูมิคุ้มกัน นิวคลีโอไทด์ (nucleotide) ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสารสำคัญที่ถูกใช้สำหรับการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์ลำไส้ ซึ่งเป็นเซลล์อายุสั้น จึงมีการตายและสร้างใหม่อย่างรวดเร็ว พบใน ไข่ ปลา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ
สัญญาณเตือนภัยภูมิคุ้มกันกำลังลดลง

-
สัญญาณที่ 1 ติดเชื้อง่ายและบ่อยขึ้น : ร่างกายจะเริ่มมีอาการเจ็บคอ มีไข้ เป็นแผลที่ปากหรือเหงือก
-
สัญญาณที่ 2 แผลหายช้ากว่าปกติ มีจ้ำเลือดหรือเลือดออกง่าย : หากมีแผลถลอก แผลผ่าตัด แผลกดทับ หรือรอยช้ำตามร่างกาย และใช้เวลานานกว่าปกติในการหาย
-
สัญญาณที่ 3 ไม่มีแรง อ่อนเพลียง่าย : แม้จะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆก็รู้สึกเหนื่อย คล้ายร่างกายอยากจะนอนพักผ่อนตลอดเวลา
-
สัญญาณที่ 4 ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา : คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งอาการอาจเกิดตามแต่ตัวบุคคล
-
สัญญาณที่ 5 น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว : เบื่ออาหาร กลืนลำบาก กินได้น้อยลง และมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 5% ภายในระยะเวลา 1 เดือน
อาหารทางการแพทย์ ตัวเลือกทดแทนมื้ออาหาร
ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ ที่เป็นอาหารสูตรครบถ้วน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ขาดสารอาหารหรือมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีโปรตีนสูง มีสารอาหารที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น อาร์จีนีน นิวคลีโอไทด์ และโอเมก้า 3 มีใยอาหาร มีกลูตามีน มีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลาย หากเป็นแบบชนิดผง จะสามารถชงละลายน้ำดื่มได้ง่ายๆ สามารถใช้แทนมื้ออาหารหรือจะเลือกเป็นมื้อเสริมก็ได้
อาหารเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเสริมภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง การเร่งเสริมภูมิคุ้มกันสามารถทำได้โดย การกินอาหารที่ให้พลังงานสูงและกินโปรตีนให้เพียงพอ หากกินได้ไม่เพียงพอ ก็มีทางเลือกในการเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วน ที่มีโปรตีนสูง และมีสารอาหารที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการเพิ่มของเม็ดเลือดขาว และน้ำหนักตัว ควบคู่ไปกับการพักผ่อนให้เพียงพอและผ่อนคลายจิตใจด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยพร้อมเข้ารับการรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์ ตอบสนองต่อการรักษามะเร็งได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น