ผู้ป่วยเบาหวาน

โภชนาการที่สำคัญ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
โดย: ผศ.ดร.นพ.วีระเดช พิศประเสริฐ
สาขาวิชาโภชนวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตประกอบด้วย การรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การไม่ดื่มสุรา การไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ หลักการควบคุมอาหารมีดังนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวานควรมีน้ำหนักตัวและรอบเอวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจำเป็นต้องลดน้ำหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตั้งต้น โดยการลดปริมาณพลังงานและไขมันที่รับประทาน และเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ

  • รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตอย่างเหมาะสม แม้จะไม่มีข้อกำหนดของปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารที่แน่นอน แต่โดยทั่วไปแนะนำให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน และไม่ควรน้อยกว่า 130 กรัม/วัน โดยแหล่งของคาร์โบไฮเดรตควรมีส่วนที่ได้จากผัก ธัญพืช ถั่ว ผลไม้ และนมจืดไขมันต่ำ ทั้งนี้เทคนิคการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตและการใช้อาหารแลกเปลี่ยนเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้การเลือกอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (low glycemic index) จะช่วยให้ glycemic load ต่ำ อาจได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น หากต้องการปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย หรือน้ำผึ้ง สามารถทำได้ด้วยการแลกเปลี่ยนกับคาร์โบไฮเดรตอื่นในมื้ออาหารนั้น โดยทั้งวันไม่เกิน 3 – 6 ช้อนชา หรืออาจพิจารณาใช้น้ำตาลเทียมหรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น sorbitol, xylitol และ mannitol ในปริมาณที่จำเป็นโดยเทียบความหวานเท่ากับน้ำตาลที่ใช้ได้ต่อวัน

  • บริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 – 35 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน เลือกบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA) ซึ่งพบมากในถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลาเป็นหลัก โดยจำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบมากในกะทิ และไขมันจากสัตว์ ไม่เกินร้อยละ 7 และจำกัดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) ไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานรวมในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังต้องลดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่า 300 มก./วัน และจำกัดไขมันทรานส์ซึ่งพบในมาการีน เนยขาว และขนมอบกรอบ ไม่เกินร้อยละ 1 ของพลังงานรวม

  • เลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง อย่างน้อย 14 กรัม ต่ออาหาร 1000 กิโลแคลอรี โดยเลือกบริโภคผัก ธัญพืช ผลไม้ และถั่ว อย่างไรก็ตามถั่วเปลือกแข็ง เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาดิเมีย อัลมอนด์ ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง มีไขมันสูง ควรบริโภคไม่เกิน 30 กรัม/วัน และแลกเปลี่ยนกับไขมัน 2 ช้อนชา และข้าว/แป้ง 1 ทัพพี

  • บริโภคโปรตีนร้อยละ 15 – 20 ของพลังงานทั้งหมด ถ้าการทำงานของไตปกติ โดยเลือกปลาและเนื้อไก่เป็นหลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ใหญ่ เนื้อสัตว์แปรรูป และเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ทั้งนี้ควรบริโภคปลาอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้ได้กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 แต่หากมีภาวะไตเสื่อม ควรบริโภคโปรตีนตามที่แพทย์แนะนำ

  • บริโภคเกลือโซเดียมไม่เกิน 2300 มก./วัน สามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้

โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้ ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย ส่งผลต่อการเกิดทุพลภาพ และเสียชีวิตได้ การวินิจฉัยโรคเบาหวาน สามารถทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน ได้แก่ ปัสสาวะมาก กระหายน้ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด โดยไม่มีสาเหตุ สามารถตรวจระดับพลาสมากลูโคสโดยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร (random plasma glucose) หากมีค่ามากกว่า 200 มก./ดล. สามารถวินิจฉัยเป็นเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของโรคเบาหวาน สามารถตรวจระดับพลาสมากลูโคสหลังอดอาหารมากกว่า 8 ชั่วโมง (fasting plasma glucose) หากมีค่า 100 – 125 มก./ดล. พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคตมากขึ้น และหากมีค่า 126 มก./ดล.ขึ้นไป สามารถวินิจฉัยเป็นเบาหวาน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของโรคเบาหวาน อาจเลือกตรวจความทนต่อกลูโคส (oral glucose tolerance test) โดยระดับพลาสมากลูโคส 2 ชั่วโมง ภายหลังดื่มน้ำตาล หากมีค่า 140 – 199 มก./ดล. พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานในอนาคตมากขึ้น และหากมีค่า 200 มก./ดล.ขึ้นไป สามารถวินิจฉัยเป็นเบาหวาน ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการของโรคเบาหวาน ควรตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
  • ในต่างประเทศอาจพิจารณาตรวจระดับ hemoglobin A1c โดยหากมีค่า 6.5% ขึ้นไป อาจวินิจฉัยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่แนะนำในประเทศไทย เนื่องจากมีโอกาสพบความคลาดเคลื่อนได้

โรคเบาหวานแบ่งได้ 4 ชนิด

โรคเบาหวานแบ่งได้ตามสาเหตุการเกิดโรค ได้แก่

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายทำให้ร่างกายสร้างอินซูลินไม่เพียงพอ ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุน้อย โดยมักมีอาการผิดปกติของโรคเบาหวานอย่างรวดเร็วและรุนแรง
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบมากที่สุด กว่าร้อยละ 90 กลไกการเกิดโรคเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ร่วมกับความบกพร่องในการผลิตอินซูลิน ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติ หรืออาจมีอาการของโรคเบาหวานอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ คือโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด โรคของตับอ่อน การติดเชื้อบางอย่าง การใช้ยาบางประเภท ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือโรคเบาหวานที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์ โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ

โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ซึ่งหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากแบบเฉียบพลัน อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึมและหมดสติ หรือหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงแบบเรื้อรัง จะส่งผลให้หลอดเลือดเล็กๆ ที่หลายอวัยวะเสื่อม ได้แก่ จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม ปลายประสาทเสื่อม ซึ่งหากเป็นมากจะทำให้ตาบอด ไตวาย หรือแผลเรื้อรังได้ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแบบเรื้อรังยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดแดงใหญ่ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์/อัมพาตได้

การตรวจค่าต่าง ๆ ที่ควรรู้

วัตถุประสงค์หลักในการรักษาเบาหวาน คือเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป ได้แก่ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 90 – 130 มก./ดล. และระดับ hemoglobin A1c ไม่เกิน 7.0% นอกจากนี้จำเป็นต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือด ได้แก่

  • ระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ได้แก่ ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลไม่เกิน 100 มก./ดล. ระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 150 มก./ดล. และระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลสูงกว่า 40 มก./ดล.ขึ้นไปในผู้ชาย หรือ สูงกว่า 50 มก./ดล.ขึ้นไปในผู้หญิง
  • ความดันโลหิตไม่เกิน 140/80 มม.ปรอท
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กก./ม.2 และรอบเอวไม่เกิน 90 ซม.ในผู้ชาย หรือไม่เกิน 80 ซม. ในผู้หญิง
ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว หรือมีปัจจัยเสี่ยงสูง การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น

บรรณานุกรม
1. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์; 2557.
2. International Diabetes Federation. IDF Diabetes Atlas, 7th ed. Brussels, Belgium: International Diabetes Federation, 2015.
3. American Diabetic Association. Standards of medical care in diabetes – 2016. Diabetes Care 2016; 39(suppl 1)

อ่านต่อ
Close
การเลือกอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำจะช่วยให้ควบคุมเบาหวานให้ดีขึ้น

สำหรับท่านที่กังวลเรื่องน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ต้องกินอาหารที่ลดน้ำตาล ลดของหวาน รสชาติอาหารก็อาจจะจืดไปบ้าง ความรู้สึกเบื่ออาหารก็จะตามมา แต่จริงๆแล้ว ผู้ที่ต้องการลดน้ำตาล ก็อยากจะใช้ชีวิตปกติ ทานอาหารที่มีรสชาติดีๆ เหมือนคนทั่วไป ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ การเบื่ออาหารอาจจะยิ่งทำให้ขาดสารอาหารโดยไม่รู้ตัว


Nestlé Health Science วิจัยและศึกษา อาหารสูตรครบถ้วนสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาล ที่มีเวย์โปรตีน มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ใช้ซูโครส และ ฟรุกโตส ผสมด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และเป็นสูตรอาหารที่ได้รับการรับรองและมีการใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ


อาหารสูตรครบถ้วนนี้ จะในรูปแบบผง ชงดื่มทานง่าย ใช้ดื่มวันละ 2 แก้วเสริมมื้ออาหารปกติที่อาจได้รับไม่เพียงพอ เป็นสูตรที่พัฒนามาสำหรับผู้ควบคุมระดับน้ำตาลโดยเฉพาะ สามารถใช้ชงดื่มเสริม หรือจะใส่ในสูตรอาหาร สูตรขนม สูตรเครื่องดื่ม แทนนม, แป้ง ได้อย่างมีรสชาติ เพื่อให้คุณวางใจและมีความสุขกับชีวิตได้โดยไม่ขาดรสชาติ


เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่า ผู้ที่ควบคุมน้ำตาลจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเมื่อทานตามคำแนะนำ (อาหารทางการแพทย์ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์)


สนใจข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมคลิกด้านล่างนี้

> > อาหารสูตรครบถ้วน สูตรเวย์โปรตีน สำหรับผู้ควบคุมน้ำตาลในเลือด < <

หรือ ติดต่อบริษัทเนสท์เล่ในวันและเวลาทำการปกติที่เบอร์โทรศัพท์ 02-657-8582

คือ